25 มิ.ย. “โซลาร์อินเดีย” 1.7 พันเมกฯ ใบเบิกทางสู่ขุมทรัพย์ก้อนโตของ GPSC
จากกรณีรัฐบาลอินเดียผุดนโยบายพลังงานสะอาด โดยใช้หลักคำนิยามว่า “One Sun One World One Grid” และ “World Solar Bank” หรือ พระอาทิตย์หนึ่งดวง โลกหนึ่งใบ หนึ่งกริด และธนาคารโซลาร์โลก เพื่อใช้เป็นแนวทางสนับสนุนโครงการพลังงานสะอาดของประเทศให้เป็นที่หนึ่งของโลก
จากคำนิยามสู่แผนนโยบายให้ประเทศมีกำลังผลิตจากโครงการพลังงานสะอาด จำนวน 175GW หรือ 175,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 แบ่งเป็น โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 100GW หรือ หรือ 100,000 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมจำนวน 60GW หรือ 60,000 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจำนวน 10GW หรือ 10,000 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำขนาดเล็กจำนวน 5GM หรือ 5,000 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “โซลาร์ฟาร์ม” ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วมากในอินเดีย จากฐานข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2564 อินเดียมีกำลังการผลิตจาก “โซลาร์ฟาร์ม” รวมทั้งสิ้น 40GW หรือ 40,000 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 42 โครงการ
กระนั้น หากนำตัวเลขข้างต้นไปเทียบกับเป้าหมายที่ทางรัฐบาลอินเดียวกำหนดให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 175,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2565 ดูทีท่าว่าน่าจะสำเร็จตามเป้าได้ยาก กอปรอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงการคือ ราคาที่ดินซึ่งมีราคาค่างวดค่อนข้างสูง ขณะที่ยังต้องแบ่งปันที่ดินไว้ใช้สำหรับโครงการอื่นๆด้วย
นอกจากนั้น สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศอินเดียที่ถึงแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเริ่มทยอยลดลงจากจุดสูงสุดแล้วก็ตาม แต่โดยรวมถือว่ายังอยู่ในจุดน่าเป็นห่วง ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องนำงบประมานจากส่วนต่างๆมาใช้ในการแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วนพิเศษ ซึ่งจะเรียกว่าเป็น First Priority กว่าทุกๆเรื่องก็ว่าได้
นั่นจึงนำมาซึ่งโอกาสทองของนักลงทุนต่างชาติที่จะสามารถเข้าไปลงทุนในโปรเจคต่างๆ อย่างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “โซลาร์ฟาร์ม” และ โรงไฟฟ้าพลังงานลม “วินด์ฟาร์ม” เช่นกรณีล่าสุดที่ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้รายงานข่าวเกี่ยวกับแผนการลงทุนของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดยอ้างอิงการเปิดเผยข้อมูลของแหล่งข่าวในวงการวาณิชธนกิจ ระบุว่าการที่ GPSC ประกาศจัดตั้ง บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GRSC ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เนื่องจากขณะนี้ GPSC มีข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์ฟาร์ม ในประเทศอินเดีย โดยเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรจากอินเดีย ขนาดกำลังผลิต (ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ GPSC) ประมาณ 1,600-1,700 เมกะวัตต์ และมีกำหนดการทำ Deal Closing หรือสรุปการลงทุนภายในช่วงไตรมาส 3 ที่จะถึงนี้
สำหรับเม็ดเงินเพื่อการลงทุนดังกล่าว GPSC จะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินในรูปเงินกู้ระยะยาว จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยปตท.มีนโยบายชัดเจนที่จะให้ GPSC เป็นเรือธงในการขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าหลัก และพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ เห็นได้ชัดจากที่ล่าสุด ปตท.มีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC จากเดิม 31.72% เป็น 42.54% ด้วยการเข้าซื้อหุ้น GPSC จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC สัดส่วน 10.82% มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท ช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ GPSC มีแผนลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม, โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, และโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ในประเทศไต้หวัน เวียดนาม เมียนมา และอินเดีย โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 5,055 เมกะวัตต์ โดยเป็นสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนราว 12% หรือประมาณ 606.60 เมกะวัตต์พร้อมกับตั้งเป้าหมายภายในระยะ 5 ปี ว่าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนขึ้นเป็น 30% ตามแผนกลยุทธ์ของปตท. ที่จะผลักดันจำนวนพลังงานหมุนเวียนให้ได้ถึง 8,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 10 ปี
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ดูเหมือนเป้าหมายการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดของอินเดียที่ 175,000 เมกะวัตต์ ยังคงอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่มาก กระทั่งว่าอินเดียอาจจะไม่สามารถทำได้สำเร็จเลยด้วยซ้ำ หากไม่มีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาช่วยผลักดันเป้าหมายในส่วนนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง
นั่นจึงนำมาซึ่งประตูสู่การเข้าถือครองกิจการในโครงการต่างๆ สำหรับ GPSC ที่มีบริษัทแม่คือ ปตท. เป็นแบ๊คอัพชั้นดีคอยหนุนหลัง ให้สามารถเข้าไปลงทุนได้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าเป้าหมายพลังงานสะอาด 175,000 เมกะวัตต์ของอินเดีย จะกลายเป็นขุมทรัพย์ขนาดมหึมาของ GPSC ไปโดยปริยาย โดยเฉพาะเมื่อมีใบเบิกทางจากการเข้าไปลงทุนในครั้งแรกนี้แล้ว
ข้อมูลที่ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ได้รับมาจากแหล่งข่าวในแวดวงวาณิชธนกิจ พร้อมทั้งมีการรายงานออกไปบางส่วนแล้วนั้น จะมีมูลเท็จจริงอย่างไร และนี่กำลังจะเป็นก้าวย่างสำคัญของ GPSC ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทและผู้ถือหุ้นหรือไม่…อีกไม่ช้าเราคงได้รับความชัดเจนจากฝ่ายบริหารมากขึ้น
ที่มา : กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน