ร่วมกำลาภพาวเวอร์ เปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า

“ขยะ” ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สร้างมลพิษระยะยาว แค่เพียง “กำจัด” ให้พ้นไปไม่เพียงพอ แต่ถ้า “จัดการ” ให้ดี ขยะก็สามารถเพิ่มมูลค่าได้ ยิ่งโดยเฉพาะของเสียจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ใครจะเชื่อว่า “ชานอ้อย” ของเสียจากโรงงานหนึ่ง สามารถกลายเป็นแหล่งผลิตพลังงานบริสุทธิ์อย่างไฟฟ้า บริษัท ร่วมกำลาภพาวเวอร์ จำกัด ได้จัดทำโรงไฟฟ้าชีวมวล เพื่อรับซื้อชานอ้อยที่เหลือมาจากโรงงานผลิตน้ำตาลมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนครั้งนี้ จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อจัดตั้งโรงงาน และเทคโนโลยีที่ช่วยให้ระหว่างการผลิตพลังงานนั้นไม่สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมอีกต่อหนึ่ง

คุณณิชา อัษฎาธร ผู้บริหารร่วมกำลาภพาวเวอร์ กล่าวว่า “จากอ้อยปีละ 10 ล้านตัน เมื่อผลิตน้ำตาลแล้วทำให้เกิดชานอ้อยจำนวนมาก จึงทำให้เกิดโรงงานผลิตไฟฟ้าจากชานอ้อย แน่นอนว่ากระบวนการผลิตไฟฟ้า ต้องเกิดเผาไหม้เกิดขึ้น เราต้องการลดปริมาณการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้”

ธนาคารกรุงไทยได้ร่วมให้การสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้ากล่องดักจับเขม่าควันที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษในอากาศ จนทำให้ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 140 ล้านกิโลวัตต์ต่อปี ซึ่งมีมูลค่า 420 ล้านบาท/ปี ซึ่งกระแสไฟเหล่านี้ได้กระจายสู่สังคม และยังไม่ทำร้ายชุมชนรอบข้างอีกด้วย

ถ้ามองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก คงยากที่จะแก้ แต่ถ้ามองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ไม่ยุ่งยากเกินจะรับมือ ธนาคารกรุงไทยสนับสนุนการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของ “โครงการเงินกู้เพื่อสิ่งแวดล้อม” อนุมัติเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับภาคเอกชน เพื่อควบคุมบำบัดหรือขจัดมลพิษ เป็นการสร้างโอกาสให้แก่หลายธุรกิจในการดูแลโลก แถมได้สร้างเม็ดเงินจากขยะของเสียอีกต่อหนึ่ง

ที่มา : THAIRATH