30 ส.ค. พาราโบลาโดม อบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เพิ่มค่ากาแฟพื้นที่สูง
การตากเมล็ดกาแฟให้แห้งของเกษตรกรบนพื้นที่สูงทางภาคเหนือ นิยมใช้วิธีการแบบดั้งเดิม นอกจากจะมีปัญหาพื้นที่มีจำกัด หาลานขนาดใหญ่ไม่ค่อยได้ ใช้เวลานานหลายวัน ยังมีปัญหาฝนตก แมลงรบกวน เกิดเชื้อรา ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพต่ำ ขายได้ราคาถูก
ผศ.ดร.บุศรากรณ์ มหาโยธี มหาวิทยาลัยศิลปากร หัวหน้าโครงการวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยว่า เพื่อแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบนพื้นที่สูง นักวิจัยได้นำ พาราโบลาโดม ที่ถูกใช้อย่างกว้างขวางกับผลิตภัณฑ์อบแห้งหลายชนิด มาทดลองใช้ ปรากฏว่า พาราโบลาโดมที่เหมาะสมกับพื้นที่จำกัดบนดอย ต้องมีขนาดพื้นที่ฐานกว้าง 3.0 ม. ยาว 6.2 ม. จึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและต่อยอดผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟได้ดี
“จากการนำไปติดตั้งให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านห้วยไม้ดำ กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองขาวกลาง และวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านหนองขาวเหนือ ต.ห้วยปูลิง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน เราพบว่าการอบด้วยพาราโบลาโดม ทำให้ได้ผลลัพธ์เป็นกาแฟ และใช้เวลาอบแห้งเพียง 3 วัน ลดลงจากเดิมเหลือแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น ที่สำคัญยังทำให้ได้เมล็ดกาแฟอาราบิกาอบแห้งคุณภาพพิเศษ ที่เรียกว่า Honey Process ช่วยรักษารสชาติของกาแฟไว้ได้เป็นอย่างดี และทำให้ขายได้ในราคาที่สูงกว่าเดิมหลายเท่า เป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกกาแฟแบบ Shade-Grown Coffee ซึ่งเป็นการทำเกษตรแบบอนุรักษ์ป่าอีกทางหนึ่ง”
ดร.บุศรากรณ์ เผยอีกว่า การเลือกใช้พาราโบลาโดมมาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรบนพื้นที่สูง เพราะนวัตกรรมที่มีกระบวนการไม่ซับซ้อน เป็นไปแบบนวัตวิถี เหมาะต่อการใช้งานของเกษตรกร โดยวางเป้าหมายการขยายผลด้านการเผยแพร่ความรู้ไปยังเกษตรกรบนพื้นที่สูงมากยิ่งขึ้น หากได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ จะสามารถร่วมกันอบรมต่อยอดนวัตกรรมนี้ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เกษตรกรเกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์อื่นตามมา เกิด Local Enterprise และการซื้อขายที่เป็นธรรมต่อเกษตรกร สร้างโมเดลภาคธุรกิจชุมชนที่มั่นคงต่อไป
ทั้งนี้ ระบบพาราโบลาโดม อบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ มีโครงสร้างแบบเรือนกระจก (Greenhouse) เป็นรูปทรงพาราโบลา ปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต เพื่อให้เกิดหลักการเรือนกระจก เมื่อรังสีดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตไปยังผลิตภัณฑ์ในชั้นวาง บางส่วนจะตกกระทบพื้นของระบบอบแห้ง ทำให้ภายในระบบอบแห้งมีอุณหภูมิสูงขึ้น รังสีอินฟราเรดในแสงแดดจะถูกเก็บกักไว้ภายในโรงเรือน เนื่องจากไม่สามารถผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตออกไปได้ อุณหภูมิภายในระบบจึงสูงขึ้น น้ำในผลิตภัณฑ์จะระเหยออกมา และถูกพัดลมดูดอากาศด้านหลังของระบบดูดออกไปภายนอก อากาศภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่ จึงทำให้ผลิตภัณฑ์แห้งเร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ ประหยัดเวลา ช่วยป้องกันฝนและแมลงรบกวน
ที่มา : THAIRATH