23 Jul ‘พลังงานทดแทน’ เส้นทางสู่เป้าหมายลด ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ในไทย
เป้าหมายของไทยที่จะลดการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ให้ได้ 20-25% หรือ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 การส่งเสริมให้ใช้ ‘พลังงานทดแทน’ เช่น การส่งเสริมให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ‘โซลาร์เซลล์’ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อ พลังงานสะอาด และมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อย‘ก๊าซเรือนกระจก’ ตามความตกลงปารีส หรือ COP 21 ที่มีเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ ‘พลังงานทดแทน’ ‘พลังงานหมุนเวียน’ ได้รับความสนใจในหลายประเทศ
สำหรับของประเทศไทย ตาม NDC (Nationally Determined Contribution) ที่เสนอไปนั้น กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ให้ได้ร้อยละ 20-25 หรือจำนวน 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงานให้ตอบโจทย์ทิศทางของโลกและข้อตกลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว
ขณะที่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก ‘พลังงานทดแทน’ ให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่สอดประสานกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลและนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
- ‘กองทุนพัฒนาไฟฟ้า’ ขับเคลื่อน ‘พลังงานหมุนเวียน’
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (‘กกพ.’) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ทั้งกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน การอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กำกับดูแลอัตราค่าบริการ กำหนดมาตรฐานให้บริการพลังงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน คุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งคุ้มครองผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้พลังงาน ประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงานในการบริหารจัดการและพัฒนาพลังงานของประเทศ
ที่ผ่านมา ‘กกพ.’ ได้จัดตั้ง ‘กองทุนพัฒนาไฟฟ้า’ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า พัฒนาหรือฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้มีความเจริญและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ มีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า รวมถึงสร้างความตระหนักในเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน
ที่มา : BANGKOKBIZ